จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

วันศุกร์ที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2553





ประวัติการปกครองของไทย สมัยกรุงสุโขทัย




อาณาจักรสุโขทัยเมื่อแรกตั้งเป็นอาณาจักรเล็กๆสมัยที่รุ่งเรืองที่สุด คือ สมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช มีกษัตริย์ปกครองเป็นเอกราชติดต่อกันมา 6 พระองค์ อาณาจักรสุโขทัย เสื่อมลงและตกเป็นเมืองขึ้นของกรุงศรีอยุธยาเมื่อสมัยพญาไสลือไท โดยทำสงครามปราชัยแก่ พระบรมราชาที่ 1 แห่ง กรุงศรีอยุธยาในปีพ.ศ.1921 และราชวงศ์พระร่วงยังคงปกครองในฐานะประเทศราชติดต่อ กันมาอีก 2 พระองค์ จนสิ้นราชวงศ์ ในปีพ.ศ.1981






สุโขทัยแบ่งการปกครองออกเป็น 2 ลักษณะ


1.แบบพ่อปกครองลูก

ผู้ปกครองสุโขทัยหรือพระมหากษัตริย์ คือ พ่อขุน เปรียบเสมือนพ่อที่จะต้องดูแลคุ้มครองลูก(ประชากร) ในสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช พระองค์ทรงโปรดให้สร้างกระดิ่งแขวนไว้ที่หน้าประตูพระราชวัง เมื่อประชาชนมีเรื่องเดือดร้อนก็ให้ไปสั่นกระดิ่งร้องเรียน พระองค์ก็จะเสด็จมารับเรื่องราวร้องทุกข์ และโปรดให้สร้างพระแทนมนังคศิลาอาสน์ใต้กลางดงตาล ในวันพระจะนิมนต์พระสงฆ์มาเทศน์สั่งสอนประชาชน หากเป็นวันธรรมดาพระองค์จะเสด็จออกให้ประชาชนเข้าเฝ้าและตัดสินคดีความด้วยพระองค์เอง การปกครองแบบพ่อปกครองลูก(ปิตุลาธิปไตย)ใช้ในสมัยกรุงสุโขทัยตอนต้น











**เพิ่มเติม**




พระเจ้าแผ่นดินสมัยสุโขทัยตอนต้น
ประชาชนมักใช้คำแทนตัวท่านว่าพ่อขุนจนเมื่ออิทธิพลของขอมเข้ามาแทรกแซงก็ได้เปลี่ยนไปใช้คำว่าพระยา ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับกษัตริย์ ซึ่งเดิมเปรียบเสมือนพ่อกับลูกได้กลายสภาพเป็นข้ากับเจ้า บ่าวกับนายไป พระมหากษัตริย์ตั้งอยู่ในทศพิธราชธรรมให้ความร่มเย็นเป็นสุขแก่ราษฎรเสมือนบุตร
ลักษณะการปกครองแบ่งออก เป็น 3 ส่วน
1.) เมืองหลวง - สุโขทัย
2.) หัวเมืองชั้นใน - ทิศเหนือ เมืองศรีสัชชนาลัย(สวรรคโลก)
ทิศตะวันออก เมืองสองแคว (พิษณุโลก)
ทิศใต้ เมืองสระหลวง (พิจิตร )
ทิศตะวันตก เมืองกำแพงเพชร
3.) หัวเมืองชั้นนอก ( เมืองพระยามหานคร) ได้แก่ เมืองหล่ม เมืองเพชรบูรณ์ เมืองศรีเทพ เมืองแพรก(สรรค์บุรี) เมืองสุพรรณบุรี(อู่ทอง) เมืองราชบุรี เมืองเพชรบูรณ์ เมืองตะนาวศรี

นอกจากนี้ ยังมีเมืองประเทศราช ได้แก่
ทิศตะวันออก - เมืองน่าน เมืองเซ่า(เมืองหลวงพระบาง) เวียงจันทร์ เวียงคำ
ทิศใต้ - เมืองนครศรีธรรมราช เมืองมะละกา และเมืองยะโฮร์
ทิศตะวันตก - เมืองทะวาย เมืองเมาะตะมะ เมืองหงสาวดี



2.แบบธรรมราชา
การปกครองแบบธรรมราชา หมายถึง พระราชาผู้ปฏิบัติธรรมหรือ กษัตริย์ผู้มีธรรม ในสมัยของพระมหาธรรมราชาที่1มีกำลังทหารที่ไม่เข้มแข็ง ประกอบกับอาณาจักรอยุธยาที่ก่อตั้งขึ้นใหม่ได้แผ่อิทธิพลมากขึ้น พระองค์ทรง เกรงภัยอันตรายจะบังเกิดแก่อาณาจักรสุโขทัย หากใช้กำลังทหารเพียงอย่าง เดียว พระองค์จึงทรงนำหลักธรรมมาใช้ในการปกครอง โดยพระองค์ทรงเป็น แบบอย่างในด้านการปฏิบัติธรรม ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา นอกจากนั้นพระ มหาธรรมราชาที่ ๑ ทรงพระราชนิพนธ์วรรณกรรมเรื่อง ไตรภูมิพระร่วง ที่ปรากฏแนวคิดแบบธรรมราชาไว้ด้วย การปกครองแบบธรรมราชา ใช้ในสมัยกรุงสุโขทัยตอนปลาย ตั้งแต่พระมหาธรรมราชาที่ ๑ - ๔




ด้านการปกครองส่วนย่อยสามารถแยกกล่าวเป็น 2 แนว ดังนี้
ในแนวราบ
จัดการปกครองแบบพ่อปกครองลูก กล่าวคือผู้ปกครองจะมีความใกล้ชิดกับประชาชน ให้ความเป็นกันเองและความยุติธรรมกับประชาชนเป็นอย่างมาก เมื่อประชาชนเกิดความเดือดร้อนไม่ได้รับความเป็นธรรม สามารถร้องเรียนกับพ่อขุนโดยตรงได้ โดยไปสั่นกระดิ่งที่แขวนไว้ที่หน้าประตูที่ประทับ ดังข้อความในศิลาจารึกปรากฏว่า "…ในปากประตูมีกระดิ่งอันหนึ่งไว้ให้ ไพร่ฟ้าหน้าใส…" นั่นคือเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถมาสั่นกระดิ่งเพื่อแจ้งข้อร้องเรียนได้


ในแนวดิ่ง
ได้มีการจัดระบบการปกครองขึ้นเป็น 4 ชนชั้น คือ
พ่อขุน เป็นชนชั้นผู้ปกครอง อาจเรียกชื่ออย่างอื่น เช่น เจ้าเมือง พระมหาธรรมราชา หากมีโอรสก็จะเรียก "ลูกเจ้า"
ลูกขุน เป็นข้าราชบริพาร ข้าราชการที่มีตำแหน่งหน้าที่ช่วงปกครองเมืองหลวง หัวเมืองใหญ่น้อย และภายในราชสำนัก เป็นกลุ่มคนที่ใกล้ชิดและได้รับการไว้ วางใจจากเจ้าเมืองให้ปฏิบัติหน้าที่บำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่ไพร่ฟ้า
ไพร่หรือสามัญชน ได้แก่ราษฎรทั่วไปที่อยู่ในราชอาณาจักร (ไพร่ฟ้า)
ทาส ได้แก่ชนชั้นที่ไม่มีอิสระในการดำรงชีวิตอย่างสามัญชนหรือไพร่ (อย่างไรก็ตามประเด็นทาสนี้ยังคงถกเถียงกันอยู่ว่ามีหรือไม่)


























จัดทำโดย: นางสาวณัฐสุดา จรัสภิญโญวงศ์ เลขที่ 7 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4/3

โรงเรียนวรนารีเฉลิม สงขลา





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น